Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน ด้วย AI as a Resource โมเดล


จากข้อมูลของ Statista ในปี ค.ศ. 2025 คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเติบโตอยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 7 ปีจากนี้ไป อยู่ที่อัตรา 26.6% โดยมูลค่าในปี ค.ศ. 2031 จะทะลุเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยประเทศสหรัฐอเมริกาครองส่วนแบ่งตลาดมากสุดที่ 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย ตามลำดับ

ในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ระบุว่าอุตสาหกรรมข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท

หากแยกเฉพาะมูลค่าบริการด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Services) ที่ไม่รวมมูลค่าของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ จะมีตัวเลขอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท (ที่มา: https://bdi.or.th/)

สำหรับบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทยจากการสำรวจ มีอยู่จำนวน 723 คน ขณะที่ผลการสำรวจการผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2566 มีตัวเลขนักศึกษารับเข้าสะสมอยู่ที่ 969 คน และนักศึกษาที่จบการศึกษามีอยู่เพียง 73 คน (ที่มา: https://info.mhesi.go.th/)

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) มีแผนที่จะผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยงบประมาณราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ด้วยงบประมาณอีก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพลิกโฉมภาคเกษตรกรรม สาธารณสุข และการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีเป้าหมายสร้างผู้ใช้งาน AI ทั่วไป จำนวน 10 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญ AI จำนวน 90,000 คน และนักพัฒนา AI จำนวน 50,000 คน

หากพิจารณาถึงระบบนิเวศที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ต้องตั้งคำถามว่า ในกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยการผลิตและการบริโภค ประเทศไทยจะให้น้ำหนักกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นทรัพยากร (AI as a Resource) เพื่อการผลิต หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ (AI as a Product) เพื่อการบริโภค

ไม่ปฏิเสธว่า การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ใช้งาน AI ทั่วไป จำนวน 10 ล้านคน มีความสำคัญ ในแง่ที่ต้องการให้เกิดการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน และความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับการเสียดุลการค้าจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านปัญญาประดิษฐ์ ในฐานะของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ AI

เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการเสียดุลการค้าจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ AI สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณา คือ ประเทศไทยจะสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มมูลค่าจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นทรัพยากรเพื่อการผลิตได้อย่างไร

ในงานสัมมนา “The Story Thailand Forum 2025: Sustainability in the Age of AI” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ ‘Rebalancing Strategy Towards Economic Sustainability’ โดยได้นำเสนอโมเดล AI as a Resource เพื่อการพัฒนาโซลูชันที่มุ่งเป้าใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจการเกษตรและอาหาร ธุรกิจการแพทย์และบริการทางสุขภาพ ธุรกิจการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร

โดยภาคธุรกิจสามารถนำเมทริกซ์ AI as a Resource ที่มี 3 ขอบข่าย (Scope) การดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย ขอบข่ายที่ 1 การลงทุนใช้จ่าย (Spending) เกี่ยวกับ AI เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขอบข่ายที่ 2 การประหยัดต้นทุน (Saving) จากความริเริ่มที่ขับเคลื่อนด้วย AI และขอบข่ายที่ 3 การเติบโตของรายรับ (Earning) จากกลยุทธ์ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้ประโยชน์จาก AI

ใน Scope 1 ธุรกิจสามารถนำ AI มาเปลี่ยนงานประจำที่ต้องทำมือซ้ำ ๆ เดิมให้เป็นงานแบบอัตโนมัติ นำเครื่องมือ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ช่วยปรับกระแสงานให้มีความเหมาะเจาะลงตัว และเสริมการหยั่งรู้ที่ช่วยผู้ใช้ในการตัดสินใจ ถัดมาเป็นการใช้ AI เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานคล่องตัว ลดข้อผิดพลาด และทำให้บุคลากรมีเวลาเหลือสำหรับงานเชิงกลยุทธ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ AI ในการจัดทำรายงานภาพรวมในแบบทันที เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เพียงการเพิ่มผลิตภาพ แต่ยังช่วยเพิ่มความแม่นยำด้วย

ใน Scope 2 ธุรกิจสามารถนำ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่ส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุน และ/หรือหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายบางรายการ ทั้งในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ช่วยลดภาระการจ้างงาน พร้อมกันกับเพิ่มผลิตภาพองค์กร รวมทั้งการเพิ่มส่วนต่างกำไรจากโครงสร้างต้นทุนที่มีการใช้ AI ในบริบทของการประกอบธุรกิจ

ใน Scope 3 ธุรกิจสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดด้วยอุปสงค์ที่เติบโตจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จาก AI การได้ยอดขายทั้งจากลูกค้าใหม่และจากภูมิภาคใหม่โดยใช้แบรนด์และชื่อเสียงของความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ AI โดยเฉพาะจากคุณลักษณะที่สร้างความโดดเด่นแตกต่าง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ประโยชน์จาก AI ซึ่งเอื้อต่อการตอบสนองความจำเป็นของผู้บริโภค ตลอดจนการดำเนินกลยุทธ์และแผนระยะยาวควบคู่กับการลงทุนที่จำเป็นเพื่อสร้างการเติบโตจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ การใช้โมเดล AI as a Resource และเมทริกซ์ข้างต้น จะช่วยให้ภาคธุรกิจเห็นช่องทางสำหรับปรับกลยุทธ์องค์กรโดยเน้นที่การใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์เป็นทรัพยากร’ มากกว่าใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์’ ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลทางกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว


[Original Link]