Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ข่าวประชาสัมพันธ์

ปีก่อนหน้า    ปีปัจจุบัน

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ Certified Training Partner ของ GRI ในประเทศไทย จะจัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านความยั่งยืน ในรายวิชา GRI Standards Certified Training Course (ระยะเวลา 2 วัน) ในวันพุธและพฤหัสบดีที่ 7-8 พฤษภาคม 2568 (ข้อมูลเพิ่มเติม)

มาตรฐาน GRI กับความเข้าใจผิดเรื่องความยั่งยืน
ไทยติดอันดับประเทศที่มีการรายงานความยั่งยืนสูงสุด

 


ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย หนึ่งในเครือบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของโลก เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล ในฐานะบริษัทแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ (รายละเอียด)

 


รายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2567 เป็นการประมวลสถานการณ์การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นภาพรวมในระดับสากล และในประเทศไทย ผ่านมุมมองของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกิจการ ซึ่งรวบรวมจากบริษัทจดทะเบียน 838 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 92 ราย รวมทั้งสิ้น 930 ราย รวมทั้งการนำเสนอกรอบการเปิดเผยข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงตามเรื่องความยั่งยืนที่เร่งด่วน (รายละเอียด)

 


สถาบันไทยพัฒน์ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน Webinar ครั้งที่ 1 สำหรับองค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) เพื่อส่งเสริมให้องค์กรสมาชิกได้รับความรู้และข้อมูลล่าสุดของมาตรฐานการรายงานสากล GRI Standards ในหัวข้อ Second set of GRI Labor Standards: Working life and career development เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 (รายละเอียด)

 


ด้วยความจำกัดของงบการเงินที่เป็นข้อมูลซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอดีต ไม่สามารถให้ภาพที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน เป็นเหตุให้หน่วยงานผู้จัดทำมาตรฐาน IFRS โดยคณะกรรมการ ISSB จำเป็นต้องออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลให้ทันกับสถานการณ์และปัจจัยการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป.. (อ่านต่อ)

ใช้ ISSB มาตรฐานเดียว ไม่พอตอบโจทย์ความยั่งยืน
ข้อมูลความยั่งยืน มีสองเวอร์ชัน

 


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลง ทิศทาง ESG ปี 2568: จาก ‘วิถียั่งยืน’ สู่ ‘วิสัยยั่งยืน’ และการเสวนาเรื่อง ‘ESG from the Right Paradigm’ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 (รายละเอียด)

กำหนดการ
ข่าวประชาสัมพันธ์
เอกสารในช่วงการนำเสนอทิศทาง ESG ปี 2568
เอกสารในช่วงเสวนา ESG from the Right Paradigm

 


สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินแนวโน้มความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของภาคธุรกิจ ประจำปี พ.ศ. 2568 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 2025 ESG Trends: จาก ‘วิถียั่งยืน’ สู่ ‘วิสัยยั่งยืน’ ความหนา 34 หน้า สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ในวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถใช้ประเด็นด้าน ESG ในการปรับแนวและจุดเน้นขององค์กรให้สอดรับกับขีดความสามารถของกิจการ เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนอย่างมีสมรรถภาพ

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือ กรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจ: ตระกูล TxFD ความหนา 38 หน้า ที่เป็นกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับภูมิอากาศ (TCFD) การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับธรรมชาติ (TNFD) และการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ (TISFD) เพื่อให้องค์กรธุรกิจได้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวในบริบทของการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเคลื่อนไหวเรื่อง ESG จากที่เป็นการขับเคลื่อนในแวดวงตลาดทุนที่มีความมุ่งประสงค์ให้บริษัทที่ลงทุน ดำเนินกิจการให้มีกำไรที่ดีพร้อมกันกับดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปด้วย ได้ก่อกำลังขึ้นจนพัฒนาเป็นวาระที่มีความเกี่ยวโยงกับฝ่ายการเมือง เนื่องจากการกำหนดนโยบายมหภาคด้าน ESG มีผลต่อทิศทางความเป็นไปของเศรษฐกิจโดยรวม.. (อ่านต่อ)

แนวโน้ม ESG ปี 2568 ในโลกที่เอียงขวา
3 แนวโน้มสำคัญด้าน ESG ปี 2568

 


สถาบันไทยพัฒน์ จัดอบรมรายวิชา Double Materiality (ระยะเวลา 1 วัน) ในวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ถ่ายทอดเนื้อหาและวิธีการประเมินทวิสารัตถภาพตามแนวทางในมาตรฐาน ESRS สำหรับผู้ที่มีวิชาชีพด้านความยั่งยืน และผู้ที่ต้องการพัฒนาวิชาชีพเพื่อการทำงานในสาขาความยั่งยืน (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ข้อมูลความยั่งยืน มีสองเวอร์ชัน
การพัฒนาความยั่งยืนจาก 'องค์กร' สู่ 'องค์รวม'
เหรียญ 2 ด้านของความยั่งยืน
หลักการชี้แนะสำหรับการรายงานความยั่งยืน

 


สถาบันไทยพัฒน์ จัดตั้ง ศูนย์อุณหภิบาล สนับสนุนภาคธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเครื่องมือบริหารมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ที่ตอบโจทย์ทั้งการจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสผ่านห่วงโซ่การผลิต (อ่านต่อ)

ข่าวประชาสัมพันธ์
แนวร่วมอุณหภิบาล
ที่มาของการตั้งศูนย์อุณหภิบาล

 


สถาบันไทยพัฒน์ นำเสนอแผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ESG Triple Up Plan สำหรับกิจการซึ่งมุ่งประสงค์ที่จะลดความเสี่ยง (Risks) ทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาส (Opportunities) ทางการตลาด รวมทั้งสร้างให้เกิดผลกระทบ (Impacts) ทางบวกจากการประกอบธุรกิจในปี 2568 (อ่านต่อ)

 


สถาบันไทยพัฒน์ จัดเสวนาแนะนำเครื่องมือ S3ER (Scope 3 Emission Reduction) สำหรับกิจการใช้คำนวณข้อมูลมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 (Scope 3) เพื่อนำไปสู่การบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเครื่องมือ TCAF (Thaipat Carbon Attribution Factors) สำหรับสถาบันการเงินเพื่อใช้คำนวณและจัดการมลอากาศที่สืบเนื่องจากการลงทุนและการให้สินเชื่อ (Financed Emissions)

• เอกสารนำเสนอ "S3ER: Tool to address Scope 3 Emissions"
• เอกสารนำเสนอ "TCAF: Tool to address Financed Emissions"

 


แนะนำเครื่องมือ Double Materiality
ทวิสารัตถภาพ เครื่องมือความยั่งยืนเทียบสากล External Link

 



สถาบันไทยพัฒน์ ได้รับการรับรองจากองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ให้เป็น GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

ไทยพัฒน์เข้าเป็นหุ้นส่วนฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจาก GRI
Thaipat Institute becomes the GRI Training Partner in Thailand
รายละเอียดหลักสูตรฝึกอบรม

 


สถาบันไทยพัฒน์ ประกาศก่อตั้ง Transition School โรงเรียนเตรียมธุรกิจเพื่อการประกอบการที่ยั่งยืน ให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต ท่ามกลางความผันผวนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโลก (อ่านต่อ)

วาระ ESG : วาระของ ‘กรรมการพิชาน’
ไทยพัฒน์ ตอบโจทย์ความผันผวนโลก รุกตั้ง Transition School

 


สถาบันไทยพัฒน์ ได้เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่าน LINE@ สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูล หรือต้องการรับข่าวสาร และติดตามความเคลื่อนไหวในงานด้านต่างๆ อาทิ หลักสูตรด้านความยั่งยืน บริการใน Sustainability Store งานบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Service) ต่อรายงานแห่งความยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล ฯลฯ
ท่านสามารถเพิ่มเพื่อนโดยระบุชื่อบัญชี LINE ID:
@thaipat หรือคลิกที่ปุ่ม Add Friends
เพิ่มเพื่อน

 






สหรัฐฯ กำลังวางหมากปรับสมดุลเศรษฐกิจโลก


จะเห็นว่า แนวทางที่สหรัฐฯ ใช้ในการจำกัดการขาดดุลการค้า การเลือกอุตสาหกรรมที่จะลงทุน และการลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศนั้น ไปสอดรับกับปรัชญาของความพอเพียง

ผ่านไป 100 วัน ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้โลกได้เห็นทั้งทิศทางและท่าทีที่สหรัฐฯ ยังต้องการกุมความเป็นผู้นำโลก ผ่านนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชุด เริ่มจากนโยบายควบคุมรายจ่าย ด้วยการปรับลดงบประมาณภาครัฐในส่วนที่ขาดประสิทธิภาพ ที่ไม่ตอบโจทย์การดำเนินงานของรัฐบาลกลาง (เช่น เรื่องโลกร้อน) และที่ไปอุดหนุนกิจกรรมนอกประเทศโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวอเมริกันโดยรวม


ในส่วนของนโยบายหารายได้ ที่ทำให้นานาประเทศสะเทือนกันถ้วนหน้า คือ การเก็บภาษีการค้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ตั้งแต่อัตรา 10% - 145% เพื่อต้องการลดตัวเลขขาดดุลการค้าจำนวน 1.2 ล้านล้านเหรียญ โดยได้มีการเปิดโต๊ะเจรจากับประเทศคู่ค้าเป้าหมายกลุ่มแรกแล้ว จำนวน 17 ประเทศ

ตามมาด้วยนโยบายเพิ่มการลงทุนในประเทศ ที่เพิ่งมีการแถลงตัวเลขยอดรวมการลงทุนไปเมื่อวันพุธ (30 เม.ย.) ในจำนวน 8 ล้านล้านเหรียญ ที่ภาคเอกชนรับปากว่าจะดำเนินการ นำโดย SoftBank (ร่วมกับ Oracle และ OpenAI) ที่ 7 แสนล้านเหรียญ NVIDIA ที่ 5 แสนล้านเหรียญ และ Apple ที่ 5 แสนล้านเหรียญ

และที่จะผลักดันให้สภาเห็นชอบในเดือนกรกฎาคมนี้ คือ นโยบายเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน ด้วยการลดภาษีเงินได้ รวมทั้งการยกเว้นภาษีเงินล่วงเวลา (Overtime) เงินพิเศษ (Tip) และเงินสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลทรัมป์เปิดเผยว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง (อำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้น) ได้สูงสุด 3,300 เหรียญต่อปี และช่วยเพิ่มค่าจ้างสุทธิ (หลังหักภาษีเงินสะสมหรือรายการอื่นตามกฎหมาย) ได้สูงสุด 5,000 เหรียญต่อปี ซึ่งมีผลให้มูลค่าจีดีพีตามราคาคงที่ (Real GDP) ในระยะสั้นจะเพิ่มขึ้น 3.3-3.8% และในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 2.6-3.2%

นโยบายทั้งหลายที่ผลักดันออกมานั้น เป็นไปเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ต้องรักษาอำนาจซื้อของภาคครัวเรือน (C) เพิ่มยอดการลงทุนภาคเอกชน (I) กำกับดูแลรายจ่ายภาครัฐ (G) ที่มียอดหนี้สะสมอยู่ราว 36 ล้านล้านเหรียญ และลดตัวเลขขาดดุลการค้า (X-M)

ทั้งนี้ หากมองไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องดำเนินการ และเป็นแนวทางเดียวกันกับที่รัฐบาลทรัมป์กำลังดำเนินการ คือ ความพยายามที่จะเพิ่มปริมาณการผลิต ให้ทันหรือมากกว่าปริมาณการบริโภค (ซึ่งหากไม่สำเร็จ ก็จำเป็นต้องทำในทางตรงข้าม คือ ลดปริมาณการบริโภค ให้ไม่เกินกว่าปริมาณที่ผลิตได้) ถ้าจะว่าไปแล้ว เทียบได้กับการมีความพอประมาณในการผลิตและการบริโภค ด้วยการทำให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

ขณะที่ ความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ในการย้ายฐานการผลิตกลับมาอยู่ในประเทศ ด้วยเหตุผลของความมั่นคงทางเศรษฐกิจว่าเป็นความมั่นคงของประเทศด้วย ก็เป็นเพราะเห็นความเสี่ยงของการที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตโลก (โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์) ที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ คือ การสร้างภาวะคุ้มกันในตัวทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางความมั่นคงของประเทศ ด้วยการพึ่งพาผู้ผลิตในประเทศ (หรือบริโภคในสิ่งที่ผลิตได้เอง) ให้มากขึ้น

ส่วนการคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับผลิตในประเทศ อาทิ กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง กลุ่มเภสัชภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์ ฯลฯ ที่ต้องสอดคล้องกับทักษะด้านแรงงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และขีดความสามารถทางการแข่งขัน ชี้ให้เห็นถึงการพิจารณาทางเลือกของรัฐบาลทรัมป์ต่อการเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนตั้งหรือขยายฐานการผลิตเฉพาะในบางอุตสาหกรรมอย่างมีเหตุผล ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโรงเรือนและเครื่องจักรอุปกรณ์ การใช้นโยบายพลังงานราคาต่ำ การให้สิทธิในการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบ และการออกใบอนุญาตแบบรวดเร็ว เป็นต้น

หลักการที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ดำเนินการ เพื่อต้องการปรับสมดุลระหว่างกิจกรรมการผลิตและการบริโภค โดยมุ่งหมายให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวม เพราะเล็งเห็นแล้วว่า สหรัฐฯ ได้กลายเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่สุดของโลก ด้วยยอดการนำเข้าสินค้าที่สูงถึง 3.36 ล้านล้านเหรียญต่อปี (ขาดดุลอยู่ 1.2 ล้านล้านเหรียญ) ขณะที่จีน ได้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตเพื่อส่งออกที่ใหญ่สุดในโลก ด้วยยอดการส่งออกสินค้าที่สูงถึง 3.58 ล้านล้านเหรียญต่อปี (เกินดุลอยู่ 9.92 แสนล้านเหรียญ) ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจโลกจะไร้ความยั่งยืน และอาจล่มสลายได้ในที่สุด (เมื่อผู้บริโภคซื้อต่อไปเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ผู้ผลิตก็ขายต่อไปเหมือนเดิมไม่ได้เช่นกัน)

ฉะนั้น การแก้ปัญหาในทางตัวเลขดุลการค้า สหรัฐฯ ในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ จึงต้องลดการขาดดุล (ด้วยการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น) ขณะที่ จีน ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ จำต้องลดการเกินดุล (ด้วยการนำเข้าเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น) จึงจะทำให้เกิดความสมดุลทางการค้าโลกอย่างที่ควรจะเป็น

โดยสรุป ขั้นตอนที่รัฐบาลทรัมป์กำลังทำอยู่ในเวลานี้ สำหรับเรื่องภาษีการค้า หลัก ๆ คือ การจำกัดยอดการส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯ ส่วนรายรับที่ได้จากการเก็บภาษีนำเข้า (ทั้งจากจีนและประเทศอื่น) จะนำมาชดเชยรายได้รัฐในส่วนที่หายไปจากการลดและยกเว้นภาษีให้คนในประเทศ ตามมาตรการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อในภาคครัวเรือน

สำหรับเรื่องการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน จะทำในรายอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย โดยใช้นโยบายการผ่อนคลายกฎระเบียบ การลดรายจ่ายการลงทุน (เช่น การลดหย่อนภาษีสิ่งปลูกสร้างได้ 100%) รวมถึงรายจ่ายดำเนินงานในบางรายการ (เช่น แผนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราเดียวจาก 21% เหลือ 15%) ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มยอดการส่งออก (และลดพึ่งพาการนำเข้าเพื่อบริโภค)

จะเห็นว่า แนวทางที่สหรัฐฯ ใช้ในการจำกัดการขาดดุลการค้า การเลือกอุตสาหกรรมที่จะลงทุน และการลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศนั้น ไปสอดรับกับปรัชญาของความพอเพียง ทั้งในแง่ของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในสถานการณ์อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่

การปรับสมดุลเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อจีน เห็นปัญหาอย่างเดียวกัน และตกลงที่จะร่วมมือดำเนินการ แม้จะอยู่คนละฟากของกระดานก็ตาม


[Original Link]