Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

15 บริษัทใน SET50 ต้องเปิดข้อมูล Biodiversity ภายในปี 2573


เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 (Sixteenth meeting of the Conference of the Parties to the Convention on Biological Diversity : CBD COP 16) ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย

CBD มีการจัดประชุมสมัชชาภาคี หรือ Conference of the Parties: COP เป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อกำหนดทิศทางและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประชาคมโลก รวมทั้งเสนอแนวทางต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนประเทศภาคีจำนวน 196 ประเทศ ให้สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ

สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ได้รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) เพื่อเป็นกรอบให้ภาคีนำไปจัดทำเป้าหมายชาติ (National Targets) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAP)

เลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres ได้กล่าวถึงความสำคัญของการประชุม CBD COP 16 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานตาม KM-GBF โดยขอให้ภาคีอนุสัญญาฯ หารือถึงวิธีการที่จะนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การระดมทรัพยากรทางการเงินให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน การพิจารณากลไกสำหรับข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรมที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิบัติของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

โดยประเทศไทย ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ใน 3 ประเด็นสำคัญระหว่างการประชุม CBD COP 16 ได้แก่

ประเด็นกลไกการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีการนำเสนอเเละเเลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ร่วมกับภาคการเงินการธนาคารในการระดมทุน เพื่อมุ่งสู่ธรรมชาติเชิงบวก (nature positive) เพื่อปิดช่องว่างทางการเงิน ผ่านทางผลิตภัณฑ์และการศึกษา เพื่อวางเเนวทางการออกตราสารหนี้เพื่อธรรมชาติ การจัดทำอนุกรมวิธานทางการเงิน การศึกษาประเมินความเสี่ยง และการพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพของภาคธุรกิจ

ประเด็นแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และร่วมเปิดตัวแผนอาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเด็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ได้มีการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้านพื้นที่ OECMs โดยเน้นย้ำบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดหุ้นส่วนความร่วมมือและเครือข่ายการทำงาน เพื่อปิดช่องว่าง ขยายโอกาส และแสวงหากลไกสนับสนุนการทำงาน

ก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน ครั้งที่ 5 (the Fifth meeting of the Subsidiary Body on Implementation: SBI5) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกร่างเอกสารการวิเคราะห์เป้าหมายและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ รวมถึงเอกสารข้อเสนอแนะในการดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนปฏิบัติการฯ ได้มีข้อเสนอให้ริเริ่มกลไกการระดมทรัพยากรทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น biodiversity finance, investment for green initiatives, synergies carbon credit for biodiversity conservation เพื่อนำเสนอให้ CBD COP 16 พิจารณาเป็นมติที่ประชุม สำหรับภาคีอนุสัญญาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินงานต่อไป

และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 (ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 12 เป้าหมาย) และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายแรก มีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศ ทั้งบนบกและในทะเล อย่างน้อยร้อยละ 30 เป้าหมายที่สอง ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลง จากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568 เป้าหมายที่สาม มีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อยร้อยละ 35 และเป้าหมายที่สี่ สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

โดยในเป้าหมายที่สี่นี้ หมายความว่า จะมีอย่างน้อย 15 บริษัทจดทะเบียน ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือภายในอีก 6 ปี นับจากนี้

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ในฐานะผู้กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ได้ออกมาตรฐาน GRI 101: Biodiversity 2024 ที่สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เพื่อช่วยองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจถึงการตัดสินใจและการดำเนินงานทางธุรกิจที่อาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสายคุณค่า และวิธีการในการจัดการผลกระทบดังกล่าว

มาตรฐาน GRI 101: Biodiversity 2024 ประกอบด้วยรายการเปิดเผยข้อมูล 8 รายการ ได้แก่ Disclosure 101-1: นโยบายการหยุดหรือผันกลับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-2: การจัดการผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-3: การเข้าถึงและปันส่วนประโยชน์ Disclosure 101-4: การระบุผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-5: ทำเลที่ตั้งกับผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-6: ปัจจัยขับทางตรงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-7: การเปลี่ยนแปลงภาวะความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-8: บริการทางระบบนิเวศ

องค์กรธุรกิจที่สนใจในมาตรฐานดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่ GRI Topic Standard for Biodiversity (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[Original Link]