ก.ล.ต. ยุโรป ออกกฎตีตรากองทุน ESG
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อกองทุนซึ่งนำปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) มาผนวกในการตัดสินใจลงทุน ได้มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ความต้องการนี้ได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้จัดการสินทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุนเพิ่มเติมชื่อกองทุนให้เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน จนเข้าข่ายเป็นการฟอกเขียว (Greenwashing) เนื่องจากคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความยั่งยืนอย่างเพียงพอ
สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของยุโรป (ESMA) ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว และได้นำไปสู่การหารือ (Consultation Paper) ถึงแนวทางสำหรับกองทุนที่ใช้ชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2022 และได้มีถ้อยแถลง (Public Statement) ต่อเรื่องนี้เมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2023 จนนำมาสู่การออกเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2024
โดยเนื้อหาสำคัญในแนวทางสำหรับกองทุนที่ใช้ชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน ที่กำลังจะประกาศใช้ ประกอบด้วย
เกณฑ์ขีดแบ่ง (Threshold) ขั้นต่ำ
ในเอกสารแนวทางการใช้ชื่อกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน กำหนดให้ผู้จัดการสินทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุน ที่ออกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน ต้องมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและ/หรือสังคม หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนที่ยั่งยืนตามข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) ไม่น้อยกว่า 80% ในกองทุนดังกล่าว
เกณฑ์ปกป้อง (Safeguard) ขั้นต่ำ
กองทุนสามารถเพิ่มคำว่า Transition หรือ Social และ Governance ในชื่อกองทุน โดยต้องไม่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์คัดออกของดัชนี Climate Transition Benchmarks (CTB) โดยเกณฑ์ในการคัดหลักทรัพย์ออกที่ระบุใน CTB ประกอบด้วย 1) บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธต้องห้าม (Controversial Weapons) ตามที่ระบุในอนุสัญญาออสโล 2) บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและผลิตยาสูบ 3) บริษัทซึ่งผู้ดูแลดัชนีที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark Administrators) พบว่ามีการละเมิดหลักการในข้อตกลงสากลแห่งสหประชาชาติ (UNGC) หรือแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สำหรับบรรษัทข้ามชาติ
ประเภท (Category) กองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Transition
กองทุนประเภทนี้ สามารถใช้คำที่แสดงถึงการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยน (Transition) เช่น คำว่า improving, progress/ion, evolution, transformation ในชื่อกองทุน เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถลงทุนในบริษัทที่มีส่วนของรายได้มาจากเชื้อเพลงฟอสซิล และมีกลยุทธ์ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยกองทุนยังคงต้องดำรงสัดส่วน 80% ตามเกณฑ์ขีดแบ่ง และเกณฑ์ปกป้องขั้นต่ำตาม CTB
เกณฑ์สำหรับจำแนกกองทุน “E” ออกจาก “S” และ “G”
กองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Social (S) และ Governance (G) ถือว่าอยู่ในประเภทกองทุนเดียวกันกับกองทุน Transition ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ปกป้องขั้นต่ำตาม CTB แต่สำหรับกองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Environmental (E) รวมทั้งคำว่า ESG และ SRI จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของดัชนี Paris-aligned Benchmarks (PAB) ที่กำหนดให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของดัชนีเป็นไปตามความตกลงปารีส (มีเป้าหมายที่จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2°C เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5°C)
เนื่องจากกองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Social หรือ Governance ในชื่อกองทุน เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะเฉพาะด้านหรือมีวัตถุประสงค์ทางสังคม (หรือมุ่งเน้นเรื่องธรรมาภิบาล) อาจมีตัวเลือกที่จำกัดเกินไป หากคัดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลออกจากกรอบการลงทุน (Investment Universe) ขณะที่กองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Environment ในชื่อกองทุน สมควรที่จะใช้ PAB เป็นเกณฑ์ในการคัดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลออก เนื่องจากผู้ลงทุนคาดหวังที่จะมิให้กองทุนมีการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
ในกรณีที่กองทุนมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Environment ร่วมกับคำที่เกี่ยวข้องกับ Transition เพื่อส่งเสริมกลยุทธ์การปรับเปลี่ยน กองทุนสามารถใช้ CTB เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ แต่หากกองทุนมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Sustainable ที่บ่งชี้ถึงความยั่งยืน กองทุนจะต้องใช้ PAB เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์
การวัดผลได้ (Measurability) ของกองทุนที่สื่อถึง Impact และ Transition
กรณีที่กองทุนมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Impact ผู้จัดการกองทุนควรให้แน่ใจว่าภายใต้สัดส่วนการลงทุนตามเกณฑ์ขีดแบ่งขั้นต่ำมีความประสงค์ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่วัดผลได้ ควบคู่กับผลตอบแทนทางการเงิน ส่วนกองทุนที่มีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Transition ผู้จัดการกองทุนควรแสดงให้เห็นว่าการลงทุนเป็นไปตามแนวทางการปรับเปลี่ยนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนและวัดผลได้
ระยะเวลาก่อนมีผลบังคับ
สำหรับกองทุนที่ดำเนินการอยู่แล้ว จะมีระยะเวลาในการเตรียมการ 6 เดือน โดยจะเริ่มบังคับใช้ในอีก 3 เดือน หลังจากการประกาศแนวทางฉบับแปลสำหรับแต่ละประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้มีระยะเวลาสำหรับผู้จัดการกองทุนที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางฉบับที่จะประกาศใช้ ไม่น้อยกว่า 9 เดือน ส่วนกองทุนที่ตั้งใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังวันประกาศใช้
[Original Link]