Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เพิ่มแต้มต่อในธุรกิจ ด้วยการเปิดเผยข้อมูล ESG


หนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืน คือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่สนใจหรือที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของกิจการ อันได้แก่ บรรดาผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการ


สาเหตุที่การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ นำไปสู่ความยั่งยืน เนื่องเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่พร้อมรับการซักถามและตรวจสอบ รวมทั้งข้อชี้แนะต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในทางที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม จนสามารถพัฒนาไปเป็นการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในที่สุด

โดยประโยชน์ที่กิจการจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส คือ การลดข้อพิพาทที่จะช่วยทั้งด้านทรัพยากรเวลา บุคลากร และงบประมาณที่สูญเสียไปกับการแก้ไขปัญหากับผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และมีเวลาในการมุ่งเน้นธุรกิจอย่างเต็มที่

สหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ (International of Federation of Accountants - IFAC) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบสถานะการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนและการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยของบริษัทจดทะเบียนใน 42 ประเทศ จำนวน 1,850 กิจการ เผยแพร่ในเอกสารชื่อว่า The State of Play: Sustainability Disclosure & Assurance เมื่อปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า 95% ของกิจการที่สำรวจ (1,350 กิจการ) ในกลุ่มประเทศ G20 มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ 64% มีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย เทียบกับ 89% ของกิจการที่สำรวจ (500 กิจการ) นอกกลุ่มประเทศ G20 ที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ 48% ที่มีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย

กิจการที่เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจากผลสำรวจพบว่า ในกลุ่มประเทศ G20 มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 74% และผลสำรวจนอกกลุ่มประเทศ G20 มีจำนวน 79% โดยผลการสำรวจในประเทศไทย (จำนวน 25 กิจการ) มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI สูงถึง 96%

สำหรับผลสำรวจการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยของกิจการในประเทศไทย 25 แห่ง โดย IFAC พบว่า ในปี ค.ศ. 2021 มีสัดส่วนอยู่ที่ 68% (เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี ค.ศ. 2020 และ 52% ในปี ค.ศ. 2019) โดยมาตรฐานการให้ความเชื่อมั่นที่ใช้อ้างอิงมากสุด ได้แก่ มาตรฐาน ISAE3000 (67%) รองลงมาเป็นมาตรฐาน AA1000 (44%) ตามลำดับ

ขณะที่ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทย จำนวน 904 แห่ง โดยสถาบันไทยพัฒน์ ในปี ค.ศ. 2023 พบว่า กิจการที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนแยกเล่ม (จำนวน 172 แห่ง) มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI อยู่จำนวน 93% (เพิ่มขึ้นจาก 89% ในปี ค.ศ. 2022 และ 86% ในปี ค.ศ. 2021) และมีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยอยู่จำนวน 56 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% (เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี ค.ศ. 2022 และ 24% ในปี ค.ศ. 2021)

ธุรกิจที่มีการรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใส และยังสามารถเปิดเผยได้ตามมาตรฐานสากล จะได้รับการยอมรับทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรผู้ประเมินทั้งในระดับประเทศและในต่างประเทศ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและเครดิตจากการดำเนินงานที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน

โดยผลสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ในประเด็นด้านข้อปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Practices) ในปี ค.ศ. 2023 ยังพบด้วยว่า ร้อยละ 74 ของกิจการที่อยู่ในทำเนียบ ESG100 มีคะแนนด้านข้อปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับกิจการทั้งหมดที่ได้รับการสำรวจ

นอกจากนี้ การให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย จะช่วยให้กิจการสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องความเชื่อถือได้และคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยในด้านการดำเนินงานความยั่งยืนของกิจการ ที่ไปเสริมหนุนการกำกับดูแล การตัดสินใจ และการจัดการความเสี่ยงองค์กรให้เกิดประสิทธิผล

กิจการที่ให้ความใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ ในรูปของ GSSSB (Green, Social, Sustainable, and Sustainability-linked Bond) ซึ่ง S&P Global คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2024 จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 1 ล้านล้านเหรียญ (สรอ.)

ประโยชน์สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ การเพิ่มแต้มต่อในการเข้าถึงตลาดที่เน้นเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดังเช่นในภูมิภาคยุโรปที่มีการสร้างกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) หรือการออกข้อบังคับว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (EUDR) ทำให้ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานความยั่งยืน มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือกว่าธุรกิจปกติ ทั้งโอกาสการเพิ่มยอดขายในตลาดเดิม ไปจนถึงการเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มผลประกอบการในระยะยาว


[Original Link]



3 ความท้าทายและความเสี่ยง ESG ปี 2024


มุมมองที่มีต่อเรื่อง ESG ของกิจการจึงมีความสำคัญ เพราะทางหนึ่ง สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรบางกลุ่ม ในอีกทางหนึ่ง ก็สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นความเสี่ยงให้กับอีกหลายองค์กรได้เช่นกัน

แม้เรื่อง ESG จะมีโมเมนตัมหรือแรงส่งที่ผลักให้ธุรกิจต้องดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานใหม่ ๆ ที่ออกโดยรัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง หรือโดยแรงบีบจากตลาดระหว่างคู่ค้าด้วยกันเอง แต่ก็ใช่ว่าการขับเคลื่อนเรื่อง ESG จะเลื่อนไหลไปโดยปราศจากแรงเสียดทาน เนื่องจากเงื่อนไขภายในกิจการ อาทิ ความพร้อม ทรัพยากร และทัศนคติที่มีต่อเรื่อง ESG ของแต่ละกิจการไม่เหมือนกัน ประกอบกับเงื่อนไขภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและกติกาทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ทำให้การปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว จึงมีจังหวะก้าวที่แตกต่างกัน


Image by Freepik

สำหรับความท้าทายที่สำคัญต่อการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจไทย ในปี ค.ศ. 2024 ได้แก่

การบังคับใช้กฎหมาย แม้การดำเนินงานด้าน ESG ไม่จำเป็นต้องพึ่งการออกกฎหมายฉบับใหม่ เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG อยู่แล้ว ดังนั้นหนึ่งในอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจ ในปี ค.ศ. 2024 จึงไม่ได้อยู่ที่ประเด็นการไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเฉียบขาด เช่น กรณีทุจริตหุ้น STARK กรณีโกงหุ้น MORE หรือกรณีลักลอบนำเข้าหมู ฯลฯ

การเปลี่ยนผ่าน โดยประเด็นด้าน ESG ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ เช่น การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถูกดึงให้มีความล่าช้าออกไป ตัวอย่างกรณีการประชุม COP28 ที่มีการแก้ไขถ้อยคำเรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการทยอยเลิกใช้ (Phase out) มาเป็นการเปลี่ยนผ่าน (Transition away) โดยการผลักดันของกลุ่มประเทศที่มีผลประโยชน์ในเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจโดยรวม ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังได้กลายเป็นความเสี่ยงต่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของแต่ละประเทศ

การฟอกเขียว ปัจจุบันคำว่า ESG ได้ถูกหยิบมาใช้ในวงกว้าง ไม่เว้นในแวดวงการตลาดที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบัน กิจกรรม ESG ส่วนใหญ่ที่ปรากฏในสื่อ ถูกตีความว่าเป็นการฟอกเขียว (Green Washing) ซึ่งคือการดำเนินการที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น การประกาศตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินจริงหรือที่พิสูจน์ไม่ได้ การแสดงเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยหน่วยงานที่ขาดความน่าเชื่อถือหรือได้มาด้วยการซื้อเครื่องหมายรับรองที่ไม่ได้มีมาตรฐานรองรับ การฟอกเขียว จึงยังเป็นอุปสรรคและความท้าทายสำคัญในการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจ ในปี ค.ศ. 2024 และมีแนวโน้มที่ขยายวงเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ใส่ใจดำเนินการด้าน ESG ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างใดก็ตาม ความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน ในปี ค.ศ. 2024 ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเหล่านั้น ได้แก่

ตกขบวน เพราะ ESG เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ต้องนำมาดำเนินการในกิจการของตนไม่มากก็น้อย บริษัทขนาดใหญ่ที่มีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยคู่ค้าจำนวนมาก นับเป็นหลายพันหลายหมื่นราย จำเป็นต้องทำเรื่อง ESG ในกิจการ เพราะได้รับแรงกดดันจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ และยังถูกคาดหวังให้ต้องดำเนินการในห่วงโซ่อุปทานด้วย นั่นหมายความว่า บริษัทที่มีการดำเนินการด้าน ESG จำเป็นต้องค้าขายกับคู่ค้าที่มี ESG ในระดับเดียวกัน หรือมีในเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทเป็นผู้กำหนด ซึ่งหากคู่ค้าหรือธุรกิจรายใดในเครือข่าย ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็อาจตกขบวนหรือหมดโอกาสที่จะค้าขายกับบริษัทเหล่านั้นได้ตามปกติ จนกว่าจะสามารถปรับปรุงสถานะเรื่อง ESG ให้ได้ตามเกณฑ์

มีต้นทุนเพิ่ม เพราะ ESG ในหลายประเด็นมาพร้อมกับการออกเป็นกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะมีค่าปรับหรือบทลงโทษ หากยังไม่มีการดำเนินการด้าน ESG นั้น ๆ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงด้านต้นทุนที่ธุรกิจต้องเผชิญ ในทางกลับกัน การดำเนินการด้าน ESG ให้เป็นไปตามกฎระเบียบ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมไม่มากก็น้อย ซึ่งก็เป็นภาระด้านต้นทุนที่ธุรกิจต้องเผชิญเช่นกัน ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนดำเนินการด้าน ESG ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงมิให้เกิดความเสียหายขึ้น กับต้นทุนที่เป็นค่าปรับหรือการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เสียโอกาสในการเข้าถึงตลาด เพราะ ESG ไม่ได้มาในรูปของการบังคับให้ปฏิบัติ ด้วยการออกเป็นกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมาในรูปของแรงกดดันหรือการกีดกันจากภาคธุรกิจด้วยกันเองในกรณีที่เป็น B2B ซึ่งหากกิจการไม่มีการดำเนินการด้าน ESG (แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับ) ก็อาจทำให้ค้าขายต่อไปเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะคู่ค้ารายใหญ่ผลักดันให้มีการดำเนินการ พร้อมกับเงื่อนไขที่หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็จะปฏิเสธการซื้อสินค้าหรือบริการจากกิจการรายนั้น ๆ กลายเป็นความสูญเสียทางธุรกิจ ทั้งการเสียตลาดเดิมที่ผูกด้วยเงื่อนไขใหม่ และการเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขปกติ (ด้าน ESG) นอกจากนี้ ESG ยังมาในรูปของแรงกดดันหรือพฤติกรรมจากผู้บริโภคในกรณีที่เป็น B2C ซึ่งมีความต้องการที่จะอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้กิจการที่ไม่ปรับตัวก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดกลุ่มนี้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ มุมมองที่มีต่อเรื่อง ESG ของกิจการจึงมีความสำคัญ เพราะทางหนึ่ง สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรบางกลุ่ม ในอีกทางหนึ่ง ก็สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นความเสี่ยงให้กับอีกหลายองค์กรได้เช่นกัน


[Original Link]



รู้จักเครื่องมือ Double Materiality


Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) เป็นการระบุประเด็นสาระสำคัญทางการเงินอันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ และประเด็นสาระสำคัญของผลกระทบอันเกิดจากการกระทำขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับนำไปใช้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน


หลักการทวิสารัตถาพ

ทวิสารัตถภาพ เป็นเครื่องมือที่พัฒนาต่อยอดมาจากการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) ซึ่งเป็นการค้นหาและระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญที่บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการ อันถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผนวกการวิเคราะห์สารัตถภาพทางการเงินที่เป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Outside-in) เข้ากับการวิเคราะห์สารัตถภาพเชิงผลกระทบที่เกิดจากองค์กรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Inside-out)

สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม

หลักการทวิสารัตถภาพ หรือ Double Materiality Principle ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในเอกสารแนวทางการรายงานข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน: ส่วนเสริมของการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้เสนอ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019

ปัจจุบัน คณะที่ปรึกษาการรายงานข้อมูลทางการเงินแห่งยุโรป (EFRAG) เป็นผู้จัดทำร่างข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSR Directive) รวมถึงหลักการทวิสารัตถภาพ แก่คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเสนอต่อสภายุโรปให้บังคับใช้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับสำหรับการรายงานในรอบบัญชี ปี ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป

ทำให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทขนาดใหญ่ราว 50,000 แห่ง ที่เข้าเกณฑ์ของ CSR Directive ต้องเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนตามหลักการทวิสารัตถภาพ และจะบังคับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ตั้งแต่รอบบัญชี ปี ค.ศ. 2026 รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีการดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ ตั้งแต่รอบบัญชี ปี ค.ศ. 2028 ตามลำดับ

สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาเนื้อหาและวิธีการประเมินทวิสารัตถภาพ (Double Materiality Assessment) เป็นรายวิชา ระยะเวลา 1 วัน ทั้งในรูปแบบ In-House Program (จัดเฉพาะบุคลากรภายในองค์กร) และ Public Program (จัดรวมกับองค์กรอื่น) สำหรับกิจการที่ต้องการยกระดับการรายงานความยั่งยืนให้สอดรับกับมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards)

รายละเอียด Double Materiality Course

องค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถแสดงความจำนงรับบริการ Double Materiality Course ได้ที่คุณจินตนา จันสน อีเมล info@thaipat.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป




Who Cares Earns


นับตั้งแต่ที่คำว่า ESG ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2004 โดยปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานชื่อ “Who cares wins” (ผู้ใดใส่ใจ ผู้นั้นมีชัย) ที่สนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น

รายงานฉบับดังกล่าว เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการที่ นายโคฟี อันนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายถึงบรรดาซีอีโอของสถาบันการเงินชั้นนำ 55 แห่ง เพื่อให้ช่วยหาวิธีในการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับตลาดทุน ฉะนั้น ต้นเรื่องของแนวคิด ESG จึงมาจากผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน

โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญขณะนั้น คือ การผลักดันการผนวกเรื่อง ESG ผ่านบริษัทที่ลงทุน (Investees) ซึ่งคือ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก โดยหากบริษัทที่ลงทุนไม่สนใจหรือไม่ขานรับเรื่อง ESG ไปดำเนินการ ผู้ลงทุนอาจจะมีมาตรการในระดับขั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การลดน้ำหนักการลงทุน การลดการถือครอง ไปจนถึงการขายหลักทรัพย์ออกจากพอร์ตการลงทุน

เนื่องจาก ESG ถูกริเริ่มขึ้นจากภาคตลาดทุน หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินงาน ESG ของกิจการ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ และสะท้อนอยู่ในผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ จึงเป็นเหตุให้บริษัทจดทะเบียน ขยับตัวรับเรื่อง ESG มาดำเนินการ และต่อมาได้นำเอา ESG มาเป็นคำที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง นอกเหนือจากที่ใช้สื่อสารกับผู้ลงทุนที่เป็นต้นเรื่อง

พัฒนาการของ ESG ในห้วงเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่การจัดทำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติ (PRI) จวบจนถึงปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนจากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหลายกิจการเล็งเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)

นั่นหมายถึง กิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในหลายระดับ คือ ในระดับแรก สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการที่ธุรกิจใส่ใจดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ในระดับต่อมา กิจการจะมีโอกาส ‘ได้รับ’ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ประเด็น ESG สร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพ และในระดับท้ายสุด ผู้ลงทุนควรจะ ‘ได้รับ’ ผลตอบแทนทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกิจการที่ ‘ใส่ใจ’ เรื่อง ESG

ในปี ค.ศ. 2024 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ผลักดันแนวคิด Who cares earns สู่เครือข่ายที่ร่วมทำงานในภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเล็งเห็นว่า จะก่อเกิดผลได้ที่ให้ประโยชน์ทั้งแก่ผู้ลงทุน กิจการ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ควบคู่ไปพร้อมกัน

โดยในปี ค.ศ. 2025 ได้นำเสนอกระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือกรอบความคิดที่ภาคธุรกิจใช้ในการจับประเด็นด้าน ESG มาดำเนินการให้สอดรับกับขีดความสามารถของกิจการ ซึ่งประกอบด้วย การกำหนดชุดกลยุทธ์หนึ่งเดียว (Single Strategy) การระบุสาระสำคัญสองนัย (Double Materiality) และการวางแผนยกระดับสามขั้น (Triple Up Plan) สำหรับให้ภาคธุรกิจใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการปรับแนวและจุดเน้นขององค์กรเพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนอย่างมีสมรรถภาพ